ข่าวเผยแพร่

ข่าวเผยแพร่

   เมื่อฤดูฝนมาถึง โรคประจำฤดูกาลก็กลับมาอีกครั้ง #ไข้เลือดออก ภัยร้ายใกล้ตัว

   โรคไข้เลือดออกเกิดจากอะไร?
โรคไข้เลือดออก เกิดจากเชื้อไวรัสชื่อว่าเดงกี่ (Dengue) ซึ่งมีทั้งหมด 4 สายพันธุ์ด้วยกัน โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค คือ เมื่อยุงลายไปกัดคนที่เป็นไข้เลือดออกก็จะดูดเชื้อโรคไว้ และเพิ่มจำนวนในตัวของยุง จากนั้นยุงไปกัดคนอื่นก็จะถ่ายทอดเชื้อเดงกี่ให้ต่อไป
 
   อาการของไข้เลือดออกเป็นอย่างไร? 
อาการของโรคไข้เลือดออก อาจสังเกตได้ง่าย ๆตามชื่อโรคคือ มีไข้ และมีเลือดออก นอกจากนั้นคือมีอาการร่วมอื่น ๆ และอาจมีอาการรุนแรงได้ไข้ จะเป็นลักษณะไข้สูงลอย ทานยาแล้วไข้ไม่ค่อยลด มีอาการปวดศีรษะเวลามีไข้เลือดออก คือ มีอาการเลือดออกตามอวัยวะต่างๆ ที่สังเกตได้ชัดเจนเช่นจุดเลือดออก เลือดออกตามไรฟัน เลือดกำเดาไหล อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายดำ อาการร่วมอื่นๆ คือ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง เบื่ออาหาร และบางคนอาจมีอาการรุนแรง ได้แก่ ช็อค หมดสติ
 
   ทราบได้อย่างไรว่าลูกเป็นไข้เลือดออก? 
หากลูก หรือคนใกล้ตัวมีอาการที่เข้าได้กับอาการของไข้เลือดออก ควรพาไปพบคุณหมอ เพื่อตรวจวินิจฉัยจากอาการ การตรวจร่างกาย และการตรวจเลือดเพื่อวินิจฉัย โดยดูจากปริมาณเกร็ดเลือดที่ต่ำกว่าปกติ ความเข้มข้นของเลือดที่สูงกว่าปกติ นอกจากนี้ยังมีการตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อไวรัสเดงกี่ และการตรวจเลือดเพื่อหาภูมิคุ้มกันต่อการติดเชื้อไวรัสเดงกี่อีกด้วยค่ะ
 
หากเป็นไข้เลือดออกควรให้การดูแลอย่างไร
เนื่องจากโรคนี้ไม่มียาต้านไวรัส การรักษาจึงต้องใช้การรักษาตามอาการ หากมีอาการรุนแรงคุณหมอจะแนะนำให้สังเกตอาการในโรงพยาบาลทันที
 
แต่หากอาการไม่รุนแรงคุณหมออาจแนะนำให้คุณพ่อคุณแม่ดูอาการลูกที่บ้าน ให้ทานยาลดไข้เมื่อมีไข้สูง เช็ดตัวลดไข้ ทานยาแก้คลื่นไส้อาเจียน จิบน้ำเกลือแร่ งดอาหารและเครื่องดื่มที่มีสีแดง ดำ หรือน้ำตาลเพื่อมิให้เข้าใจผิดหากมีอาการอาเจียนว่ามีเลือดปนออกมา และคอยสังเกตอาการที่ต้องรีบมาพบคุณหมอ ได้แก่ ทานไม่ได้ คลื่นไส้อาเจียนมาก มีเลือดออกผิดปกติ ปัสสาวะออกน้อย นอกจากนี้คุณหมออาจนัดมาดูอาการและเจาะเลือดเป็นระยะก็ควรจะมาทุกครั้ง
 
   เราจะป้องกันการติดเชื้อไข้เลือดออกได้อย่างไร
การป้องกันการติดเชื้อไข้เลือดออกมี 2 หลักการใหญ่ ๆ ด้วยกัน คือ การป้องกันไม่ให้ยุงกัดและการกำจัดยุงลายค่ะ
   1. การป้องกันไม่ให้ยุงกัด ทำได้โดยนอนกางมุ้ง หรือในห้องที่มีมุ้งลวด ทายากันยุง โดยเลือกใช้ยาชนิดที่สามารถใช้ได้อย่างไม่เป็นอันตรายในเด็ก
   2. การกำจัดยุงลายควรเริ่มตั้งแต่กำจัดลูกน้ำด้วยวิธีการต่าง ๆ ดังนี้
       - ใส่ทรายอะเบทในภาชนะเก็บน้ำ
       - ปิดภาชนะใส่น้ำให้มิดชิด
       - คว่ำภาชนะที่ไม่ใช้
       - ล้างภาชนะใส่น้ำ และเปลี่ยนน้ำอยู่เสมอ เช่น แจกันดอกไม้, ภาชนะรองขาโต๊ะ เป็นต้น
 
   นอกจากนี้บางบ้านอาจกำจัดยุงด้วยการฉีดพ่นสารเคมี หรือใช้สารเคมีกำจัดยุง ซึ่งต้องระมัดระวังอย่างมากในบ้านที่มีเด็กเล็ก ๆ นะคะ
   
   ด้วยความปรารถนาดีจาก
 
 
   ประชาสัมพันธ์ ข้อกำหนดของจังหวัดนราธิวาส
ในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส #COVID19 ตั้งแต่ 1 มิถุนายน 2563 เป็นต้นไป